บุพเพสันนิวาส ๒ ความพยายามอีกขั้นที่รังสรรค์ ‘หนัง’ ให้แตกต่างจาก ‘ละคร’

4 Min
884 Views
02 Aug 2022

สื่อ ‘ละคร’ ถือเป็นมหรสพคู่บ้าน ที่มอบความบันเทิงให้กับทุกครัวเรือนที่มีโทรทัศน์อย่างยืนยงยาวนานมาหลายสิบปี ตั้งแต่ละครบอกบทในห้องส่ง ไปจนถึงละครที่มอบความหลากหลายทางเนื้อหา แต่ความบันเทิงบนฟรีทีวีนี้มักจะโดนด้อยค่าในฐานะสื่อที่ขาดแคลนพลังสร้างสรรค์ ทำเพื่อเสิร์ฟคนดูที่ต้องการทิ้งสมองเอาไว้ในที่ทำงาน แล้วมาผ่อนคลายหน้าจอแบบไม่คิดอะไร จึงทำให้ละครไทยเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ชั่วนาตาปี ไม่อาจจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีได้นัก

แต่การมาของซีรีส์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะซีรีส์จากเกาหลี ก็ทำให้วงการละครไทยเริ่มที่จะขยับขยายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งพล็อตที่ทันสมัยขึ้น การถ่ายทำที่ดีขึ้น จนคำว่า ‘ละคร’ ค่อยๆ กลายร่างเป็นคำว่า ‘ซีรีส์’ อย่างจริงจัง แต่แม้ทางเลือกจะมีมากขึ้นทั้งจากช่องฟรีทีวีและสตรีมมิ่งที่เสียเงินดู แต่ท้ายที่สุด สื่อบันเทิงในบ้านนี้ คำว่า ‘เรตติ้ง’ ก็ยังมีชัยชนะเหนือ ‘พลังแห่งการสร้างสรรค์’ อยู่ดี จึงมีคำถามมากมายว่า สุดท้ายแล้วละครไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีในอนาคต ดังเช่นชาติที่เจริญแล้วอย่าง ฮอลลีวูด หรือเกาหลีใต้ ทำได้หรือไม่ 

จากความสำเร็จระดับรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ของละคร บุพเพสันนิวาส (2561) จนเกิดเป็นกระแส ‘ออเจ้า’ หยิบชุดไทยสไบเฉียงมาใส่กันอย่างเอิกเกริก ทำให้นักวิเคราะห์มากมายตั้งคำถามว่า เพราะอะไร พล็อตนิยายเกี่ยวกับการเดินทางย้อนเวลาที่หากจะกล่าวกันตามตรงว่า ‘ไม่ใหม่’ เรื่องนี้ ถึงได้เป็นที่รักของคนดู อาจจะเพราะเคมีนักแสดงที่เข้ากันอย่างมหัศจรรย์ การหยิบจับประวัติศาสตร์ที่จริงจังมาทำให้เป็นเรื่องแฟนตาซีโรแมนติไซส์ไปจนถึงล้อเลียน รวมไปถึงกระแสรักชาติ และการอุปาทานหมู่ของคนดู ทำให้จู่ๆละครที่ไม่คิดว่าจะดังกลับดังได้ในระดับปรากฏการณ์ แม้จะมีคำถามมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ละครบุพเพสันนิวาสก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าจดจำและถือเป็นอีกหนึ่งหน้าตำนานของวงการละครไทยที่น่าศึกษาอยู่ไม่ใช่น้อย

และแน่นอนว่าความสำเร็จก็ถูกต่อยอดในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นตัวนักแสดงที่กลายเป็นขวัญใจมหาชน นวนิยายต้นฉบับที่ได้รับการอนุมัติให้ทำภาคต่อในชื่อ ‘พรหมลิขิต’ รวมไปถึงภาคแยกจนเกิดเป็น ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ ในรูปแบบภาพยนตร์นั่นเอง

ซึ่งตัวหนังใหญ่นั้นนับเป็นโจทย์ที่แสนกดดัน และเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่ใช่น้อยสำหรับค่ายหนังอย่าง GDH ที่ต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วงว่าจะนำความสำเร็จนี้ มาแปรรูปให้สำเร็จยิ่งขึ้นในรูปแบบภาพยนตร์ดังเช่น ‘นาคี ๒’ (2561) ที่ทำสำเร็จเหนือความคาดหมายในระดับ 461 ล้าน ไปได้อย่างไร

เรื่องราวของ เมธัส เด็กหนุ่มในยุคปัจจุบัน (รับบทโดย พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ที่ปืนประจำตระกูลได้ลั่นในวันที่เกิดสุริยุปราคา นำพาให้เขาทะลุมิติมาโผล่ในยุครัตนโกสินทร์ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 และนำพาให้เขาได้เจอบุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย ทั้ง ‘นายหันแตร’ ‘หมอบรัดเลย์’ ไปจนถึงพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ รวมไปถึง ‘ภพ’ และ ‘เกษร’ ที่เป็นอีกชาติภพของ ‘พ่อเดช’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ 

เส้นเรื่องที่เราต้องเอาใจช่วยให้เมธัสหาทางกลับคืนสู่ยุคปัจจุบันให้จงได้ ทำอย่างไรให้ภพมัดใจเกษรได้สำเร็จ ไปจนถึงการนำประวัติศาสตร์ที่เกือบคลาดเคลื่อนในการมาของประเทศอังกฤษให้กลับคืนเข้ารูปเข้ารอย ดูจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่ใช่น้อย ในฐานะสื่อภาพยนตร์ ที่ต้องทำงานอย่างหนักหน่วงกว่า สื่อละครทีวี ทั้งการเรียกร้องให้คนดูทีวีที่ปกติไม่ต้องเสียเงินในการดู ต้องควักเงินในช่วงโมงยามของสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้ รวมไปถึงทางเลือกที่มีมากมายในการเสพความบันเทิงที่มากขึ้น บุพเพสันนิวาส ๒ จึงไม่ง่ายดังเช่นละครทำไว้ได้ก่อนหน้านี้

จนในที่สุดเมื่อหนังเรื่องนี้ได้ปรากฏโฉมในโรงภาพยนตร์ สิ่งที่ดีคือการได้เห็นร่องรอยของความตั้งใจในการทำงาน ทั้งการพยายามแยก ‘หนัง’ ให้แตกต่างจาก ‘ละคร’ ทั้งความสนุกที่มอบให้ การ Blow up ทั้งในฉากการต่อสู้บนเรือที่ดูเป็นหนังแอ็คชั่นฟอร์มใหญ่ ไปจนถึงการบรรจงถ่ายทำให้เสน่ห์ของตัวละครดูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในด้านงานสร้าง การทำการบ้านอย่างหนัก การกดรีโมตให้คนดูได้ปรับจูนอารมณ์ตามเรื่องราวของหนังไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบถือได้ว่า ยังอยู่ในมาตรฐานที่ GDH เอาอยู่ได้ทุกครั้ง และการที่หนังเสนอได้อย่างครบรสก็ถือเป็นความคุ้มค่าเต็มอรรถรสสำหรับคนที่ยอมควักเงินเพื่อไปดู

รวมไปถึง การเลือกใช้ผู้กำกับที่ถูกคนอย่าง อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ที่เชี่ยวชาญในการทำหนังคอมเมดี้หน้าตายสไตล์โจวซิงฉือ จนทำให้หนังรอมคอมอย่าง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552) กลายเป็นหนังรอมคอมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และอมตะเหนือกาลเวลา หรือการยั่วล้อขนบของละครน้ำเน่าใน น้ำตากามเทพ (2558) ก็นับได้ว่าทางตลกของอดิสรณ์นั้นน่าสนใจและมีลายเซ็นเฉพาะตัวเป็นอย่างดี ซึ่งใน บุพเพฯ ๒ อดิสรณ์ยังสามารถสร้างสมดุล ระหว่างความโรแมนติกที่เดินคู่ขนานกันและกันกับมุกตลกได้อย่างดีไม่ใช่น้อย 

พร้อมกับการยึดถือขนบของหนังการเดินทางข้ามเวลาอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการนำพาคนดูย้อนไปในกลไกของกาลเวลา เพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ก็ทำให้หนังเรื่องนี้ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ได้อย่างน่าสนใจ

หากแต่จุดเสียของหนัง คือความพยายามที่จะเอาอกเอาใจฐานเดิม นั่นคือคนดูละคร ก็ทำให้ช่วงเวลา 166 นาที เสียไปกับช่วงเวลาพ่อแง่แม่งอน รวมไปถึงมุกตลก 5 บาท 10 บาท ที่บางมุกก็ทำได้แค่เพียงหัวเราะในลำคอ จึงไม่นำพาให้หนังเดินเรื่องไปได้ไกลเท่าไรนัก 166 นาทีอาจจะปลื้มปริ่มสำหรับแฟนคลับที่ติดตามดูละครเรื่องนี้อย่างเข้าเส้น แต่มันก็สร้างอารมณ์กระอักกระอ่วนสำหรับคนที่ไม่เคยดูละครเรื่องนี้ไปจนถึงคนที่เบื่อขนบความเป็นละครไม่ใช่น้อย จนมองว่าความยาวของหนังนั้นยาวจนเกินไป

แน่นอนว่าชื่อชั้นของ GDH มักจะแปะป้ายในฐานะค่ายหนังตลาดคุณภาพ ใส่ใจในบทภาพยนตร์ไปจนถึงงานสร้างที่ได้มาตรฐาน ความคาดหวังจึงค่อยๆ ถมทับจนกลายเป็นความกดดันในที่สุด

แต่ผลสรุปกลับลงเอยที่หนังเลือกที่จะเอาอกเอาใจคนดูละครมากกว่า ก็อาจจะนำพาไปสู่ความผิดหวังสำหรับแฟนหนัง ซึ่งในช่วงเวลาของการเขียนนี้ผู้เขียนไม่อาจทราบได้เลยว่ารายได้ของหนังจะลงเอยไปในทิศทางไหน เพราะคนดูละครเอง ก็ใช่ว่าจะเลือกออกจากบ้านฝ่าค่าครองชีพที่แสนแพง ฝ่าโรคระบาดที่ยังไม่จบไม่สิ้นเพื่อออกมาดูหนังเรื่องนี้ได้ในระดับปรากฏการณ์ ตามที่ค่ายหนังเองคาดหวัง

อย่างไรก็ดี บุพเพสันนิวาส ๒ ถือเป็นความพยายามอีกขั้นในการมอบอรรถรสของหนังที่สมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านการสร้าง การทำการตลาด ไปจนถึงการสำรวจตรวจสอบพฤติกรรมคนเสพสื่อในปัจจุบัน ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะลงเอยในรูปแบบไหนของตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ ก็คือได้ว่าหนังได้มอบกรณีศึกษาบทสำคัญให้กับคนทำหนัง คนผลิตสื่อ ได้ไม่มากก็น้อย