ชายผู้วิ่งมาราธอนช้าที่สุดในโลก 54 ปี 246 วัน 5 ชั่วโมง 32 นาที 20.3 วินาที
ชิโซ คานาคุริ เป็นชายผู้มีชื่ออยู่ในกินเนสเวิลด์เรคคอร์ด(Guinness World Records) กับสถิติการวิ่งมาราธอนที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
ชิโซ คานาคุริ จบการวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตร ด้วยเวลา 54 ปี 246 วัน 5 ชั่วโมง 32 นาที 20.3 วินาที
มันเป็นการวิ่งที่ยาวนานจนไม่น่าเชื่อ นักกีฬาคนนี้เริ่มต้นวิ่งในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปีค.ศ.1912 เขาสามารถไปแต่งงาน มีลูก 6 คน และหลาน 10 คน ก่อนที่จะเข้าเส้นชัยในเดือนมีนาคม ค.ศ.1967
—————————-
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศในทวีปเอเชียยังไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิก แม้ว่าในตอนนั้นกีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นแล้วสิบกว่าปีก็ตาม
จนในช่วงหลังจากที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนในปีค.ศ.1908 สิ้นสุดลง ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งนามว่า ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง ประธานคนแรกของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เขามองเห็นว่ากีฬาคือต้นกำเนิดของสันติภาพ
ดังนั้นทุกประเทศบนโลกนี้ควรมีส่วนร่วมในการแข่งขันนี้ด้วยกันเพื่อความสงบสุขและสันติภาพ
(แม้ว่าตลกร้ายที่ตามมาหลังจากนั้นเพียง 6 ปีคือสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอื่นๆ ไม่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบันก็ตามที)
ประเทศญี่ปุ่นจึงกลายเป็นชาติแรกในทวีปเอเชียที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ในปีค.ศ.1912
——————————
แต่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 กีฬาสากลที่แข่งขันกันในโอลิมปิกตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฟุตบอล ฟิกเกอร์สเกต ยิมนาสติก หรือ ลาครอส เป็นต้น มันกลับไม่ใช่สิ่งที่ได้รับความนิยมหรือเคยได้ยินในประเทศญี่ปุ่นเอาเสียเลย
เรียกได้ว่าแทบไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนที่รู้จักคำว่า
”โอลิมปิก” เลยในยุคนั้น
คำว่า “กีฬา” ในยุคนั้นที่ชาวญี่ปุ่นเข้าใจก็ล้วนแต่เป็นศิลปะการต่อสู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ซูโม่, เค็นโด, ยูโด, ไอกิโด, คาราเต้ และยาบุซาเมะ(ยิงธนูบนหลังม้า) ดังนั้นชมรมกีฬาต่างๆ ที่จัดในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ต่างล้วนแต่เต็มไปด้วยศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ทั้งนั้น
และเมื่อประเทศญี่ปุ่นมาไตร่ตรองดูแล้ว ประเภทกีฬาที่พวกเขาจะร่วมแข่งขันได้ในโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ก็คงเหลือแต่กีฬาที่พวกเขาสามารถทำได้ในตอนนั้น นั่นคือการวิ่ง
—————————
19 พฤศจิกายน ค.ศ.1911
การคัดเลือกนักกีฬาวิ่งทีมชาติญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้น
ชิโซ คานาคุริ เด็กนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งกรุงโตเกียว เขาเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการวิ่งมาตั้งแต่ยังเด็ก และด้วยวัย 20 ปี ชิโซจึงตัดสินใจเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกไปวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิก
การแข่งคัดเลือกที่ระยะทาง 25 ไมล์ (40.2 กม.) ชิโซ คานาคุริ สามารถทำเวลาไปได้ 2 ชั่วโมง 32 นาที 30 วินาที เหนือกว่าคู่แข่งใดๆ ในสนาม
แม้ว่าคานาคุริจะเข้าเป็นอันดับ 1 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งนั้น คือคานาคุริ เกิดอาการเซและอ่อนเพลีย เนื่องจากความเชื่อที่ผิดๆ ของเขาที่ว่า “การกินน้ำก่อนหรือระหว่างแข่งขัน จะทำให้เหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากน้ำทำให้มีเหงื่อไหลออกมา และเหงื่อคือปัจจัยทำให้เหนื่อย”
ด้วยความเชื่อนี้ทำให้คานาคุริไม่ได้ดื่มน้ำเลยในช่วงก่อนการแข่งขัน มันจึงทำให้เขาอ่อนเพลีย แต่ด้วยอากาศที่หนาวบวกกับแรงอึดที่เขามี ทำให้คานาคุริยังคงเข้าเป็นอันดับ 1
แต่เรื่องความเชื่อผิดๆ นี้กำลังจะทำลายคานาคุริในไม่ช้าโดยไม่รู้ตัว
——————————
ในที่สุดคานาคุริ ก็ได้เป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขันวิ่งมาราธอน เขาและนักกีฬาอีกคนนามว่า ยาฮิโกะ มิชิมะ เป็นเพียง 2 คนที่เป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
การเดินทางสู่กรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดนได้เริ่มต้นขึ้น ชิโซ คานาคุริ และยาฮิโกะ มิชิมะ 2 นักกีฬาทีมชาติ พร้อมด้วยคาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษา และเฮียวโซ โอโมริ ผู้จัดการทีม
ทั้ง 4 คนต้องเดินทางไปด้วยรถไฟทรานส์ไซบีเรียและต่อรถไฟอีกหลายสายเพื่อไปยังกรุงสตอกโฮล์มซึ่งใช้เวลาในการเดินทางร่วม 20 วัน มันเป็นการเดินทางที่เหนื่อยและไม่เหมาะกับนักกีฬาที่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเอาเสียเลย
นักกีฬาทั้ง 2 คนเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและประหม่า เพราะการแข่งขันในครั้งนี้พวกเขาถือว่าเป็นการแสดงเกียรติของประเทศญี่ปุ่นให้โลกได้ร้บรู้
ทั้ง 2 คนรู้ดีว่าพวกเขายังขาดประสบการณ์ในการวิ่ง ดังนั้นเมื่อใดที่รถไฟหยุดจอดแต่ละสถานี คานาคุริจะออกวิ่งไปรอบๆ สถานีรถไฟ จนกว่าจะมีเสียงสัญญาณเตือนรถไฟออก เขาถึงจะวิ่งกลับมาขี้นรถไฟ
การเดินทางด้วยรถไฟอันแสนยาวนาน มันเป็นการเดินทางที่ทั้ง 4 คนไม่เคยสัมผัสมาก่อน ทั้งหมดเริ่มมีอาการอ่อนเพลียและเริ่มมีอาการป่วยจากการเดินทาง
โชคร้ายมาเยือน เมื่อเฮียวโซ โอโมริ ผู้จัดการทีมได้ล้มป่วยลงระหว่างการเดินทางนั่นเอง คานาคุริที่เป็นคนที่อายุน้อยสุดในกลุ่ม จึงต้องใช้เวลาเพื่อมาดูแลเขาในระหว่างอยู่บนรถไฟโดยปริยาย นั่นทำให้คานาคุริไม่ได้ซ้อมวิ่งอีกเลย
——————————
14 กรกฎาคม ค.ศ.1912 การแข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิกเริ่มต้นขึ้น มันเป็นวันที่ร้อนระอุวันหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม คานาคุริที่แทบจะไม่ได้พักเลยหลังจากเดินทาง เดินเข้ามายังจุดลงทะเบียนพร้อมกับนักวิ่งนานาชาติอีก 68 คน
คานาคุริมองดูนักกีฬาคนอื่นๆ พวกเขาต่างสวมหมวก เอาผ้ามาพันรอบศีรษะ หรือพยายามจิบน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำระหว่างการวิ่ง มันเป็นการพยายามจัดการกับความร้อนในการแข่งขันที่มีอุณหภูมิสูงถึง 32 องศาเซลเซียส
ซึ่งมันตรงข้ามกับสิ่งที่คานาคุริทำโดยสิ้นเชิง เขาพยายามดื่มน้ำให้น้อยที่สุดมาตลอด และแทบไม่ได้ดื่มน้ำเลยในวันแข่ง เพราะความเชื่อที่ว่ายิ่งเหงื่อออกมากยิ่งทำให้เหนื่อยนั่นเอง
นักวิ่งชาติอื่นๆ ยังประหลาดใจกับรองเท้าของคานาคุริ เขาสวมใส่รองเท้าทาบิ มันเป็นรองเท้าผ้าใบแบบสองนิ้วที่ในตอนนั้นเป็นที่นิยมในคนงานไซต์ก่อสร้างประเทศญี่ปุ่น มันเป็นรองเท้าที่ไม่เหมาะกับการวิ่งสักเท่าไหร่
การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ด้วยปัจจัยทั้งความร้อน ความเหนื่อยล้า และการขาดน้ำ คานาคุริก็ได้ล้มลงที่ระยะ 27 กิโลเมตร เขาหมดสติไป ชาวบ้านที่ยืนดูการแข่งขันอยู่ในตอนนั้นเห็นคานาคุริล้มลงและไม่ฟื้นขึ้นมา จึงช่วยกันรีบนำตัวคานาคุริเข้าไปพักที่บ้านของพวกเขา
————————
การวิ่งไม่จบของคานาคุริไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในการแข่งวันนั้นมีผู้เข้าแข่งขันวิ่งถึงเส้นชัยเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องขอหยุดการแข่งขันระหว่างทางเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าจากสภาพอากาศที่ร้อนและการบาดเจ็บ
แต่สิ่งที่คานาคุริทำแปลกไปจากคนอื่น คือเขาไม่ยอมแจ้งแก่คณะกรรมการเหมือนกับที่นักกีฬาคนอื่นๆ ทำนั่นเอง เพราะหลังจากคานาคุริฟื้นขึ้นมา เขาก็กลับไปยังที่พักเลยทันที
เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันพยายามหาตัวคานาคุริอยู่หลายวัน และในที่สุดพวกเขาก็ระบุในการแข่งขันว่า นักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นคนแรกของประวัติศาสตร์โอลิมปิกนั้น “หายตัวไป” ในประเทศสวีเดน
——————————
สาเหตุที่คานาคุริไม่ยอมไปแจ้งแก่คณะกรรมการว่าเขาวิ่งได้ไม่จบ เป็นเพราะเขารู้สึกว่าการไปแจ้งมันเป็นเหมือนการประจาน ”ความอัปยศ” ให้ทั้งโลกรู้กันถ้วนหน้าว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นอ่อนแอ สิ่งนี้ทำให้คานาคุริไม่กล้าไปกรอกเอกสารต่อหน้าคณะกรรมการโอลิมปิก เขาคิดว่าเขาเป็นคนเดียวที่วิ่งไม่จบ โดยที่ไม่รู้ว่ามีผู้เข้าแข่งขันอีกครึ่งหนึ่งที่วิ่งไม่จบเช่นกัน
ชิโซ คานาคุริ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับยาฮิโกะ มิชิมะ ผู้ล้มเหลวในการผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในการแข่งวิ่ง 100เมตร 200เมตร และ400เมตร ทั้ง 2 คนพร้อมทีมงานกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ล้มเหลว ท่ามกลางสื่อของญี่ปุ่นที่วิพากษ์วิจารณ์และตำหนิเรื่องราวนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งที่ส่วนหนึ่งมันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย
มันไม่ยุติธรรมที่จะบอกว่าเป็นความผิดของพวกเขาฝ่ายเดียว ที่กลับมาประเทศด้วยความพ่ายแพ้
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเขียนเปรียบเทียบการเตรียมพร้อมของรัฐบาลในการเตรียมนักกีฬาไปแข่งขัน โดยระบุว่า
“เคนเนดี้ เคน แมคอาเธอร์ นักกีฬาวิ่งมาราธอนจากประเทศแอฟริกาใต้ เป็นผู้ชนะการแข่งขันมาราธอนโอลิมปิกในครั้งนี้ แมคอาเธอร์ใช้เวลาซ้อมเพื่อเตรียมตัวแข่งกว่า 3 ปี แต่ทีมชาติญี่ปุ่นกลับใช้เวลาซ้อมไม่กี่เดือน”
“รัฐบาลไม่ควรส่งนักกีฬาไปแข่งยังต่างประเทศอีกต่อไป ยกเว้นว่าพวกคุณจะมีความมุ่งมั่น ความจริงจัง และเตรียมพร้อมที่จะไปแข่งให้มากที่สุด”
คานาคุริเห็นด้วยกับความเห็นในครั้งนี้ เขายังขาดความรู้ และซ้อมน้อยเกินไป คานาคุริให้คำปฏิญาณกับเพื่อนๆ นักกีฬาที่ญี่ปุ่นว่า
“ความล้มเหลวนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จ”
—————————
คานาคุริกลับไปซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อไปแข่งในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินปีค.ศ.1916 อีกทั้งเขายังเลิกความคิดเรื่องการไม่ดื่มน้ำออกไปด้วย น่าเสียดายที่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินต้องยกเลิกไป
แต่อีก 4 ปีต่อมา คานาคุริ ในวัย 28 ปี ก็ได้กลับมาวิ่งมาราธอนอีกครั้งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ครั้งนี้คานาคุริจบอันดับที่ 16 และได้รับคำชื่นชมเป็นจำนวนมากถึงความพยายามของเขา
ชิโซ คานาคุริ ลงแข่งมาราธอนโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในปีค.ศ.1924 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส น่าเสียดายที่เขาต้องออกจากการแข่งขันหลังจากวิ่งไปได้ครึ่งทางด้วยอาการบาดเจ็บ แต่ในครั้งนี้เขาไม่ลืมที่จะไปแจ้งแก่คณะกรรมการว่าเขาวิ่งไม่จบ
—————————
ในปีค.ศ.1967 ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปี การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงสตอกโฮล์ม มีการเชิญนักกีฬาที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ให้มาร่วมเฉลิมฉลองด้วย และคานาคุริวัย 75 ปีในตอนนั้น ก็ได้รับเชิญให้มาร่วมงานเช่นกัน
เมื่อคานาคุริมาถึงกรุงสตอกโฮล์ม เขาก็ได้รับแจ้งว่าชื่อของเขานั้นโด่งดังมากที่ประเทศสวีเดน ในฐานะ “นักวิ่งมาราธอนที่หายตัวไป”
ในปีที่เขาหายตัวไป ชื่อของเขาถูกประกาศแจ้งไปทั่วประเทศเพื่อตามหาเขา โดยหารู้ไม่ว่าคานาคุริได้กลับประเทศไปนานแล้ว
สื่อมวลชนรวมถึงองค์กรต่างๆ ของประเทศสวีเดน ได้ขอร้องให้คานาคุริทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยระดมทุนเพื่อส่งนักกีฬาในประเทศสวีเดนไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีถัดไปที่ประเทศเม็กซิโก
พวกเขาขอร้องคานาคุริให้วิ่งเข้าเส้นชัย ที่เขาวิ่งมาตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1912 ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิกที่เขาวิ่งไม่จบ
คานาคุริตกลงทันที เขาดีใจมากที่ได้ทำในสิ่งที่เขาฝังใจมาตลอด 54 ปี คานาคุริวิ่งอย่างร่าเริงเพียงไม่กี่เมตร ก่อนที่จะเข้าเส้นชัยด้วยริบบิ้นที่ทำขี้นมาพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
สิ้นสุดการวิ่ง เวลาของเขาถูกบันทึกทันที
54 ปี 246 วัน 5 ชั่วโมง 32 นาที 20.3 วินาที
“มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ระหว่างทางฉันแต่งงาน มีลูก 6 คนและหลาน 10 คน”
คานาคุริกล่าวหลังจากวิ่งจบด้วยอารมณ์ขัน
—————————
สิ่งที่คานาคุริได้ทิ้งเอาไว้ ไม่ใช่เพียงชื่อที่เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นที่ได้เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก แต่เขาได้ทิ้งมรดกและสร้างความนิยมแก่ชาวญี่ปุ่นให้หันมาสนใจกีฬาวิ่งระยะไกลกันมากขึ้น
ในปีค.ศ.1920 คานาคุริได้ร่วมจัดตั้ง “Hakone Ekiden” มันคือการแข่งขันวิ่งที่โด่งดังที่สุดในประเทศญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน การแข่งขันวิ่งผลัดระยะทาง 218 กิโลเมตร จากเมืองโตเกียวไปยังภูเขาฮาโกเน่และกลับมายังเมืองโตเกียว นอกจากระยะทางที่ต้องใช้ความอึดแล้วแล้ว นักวิ่งยังต้องอาศัยความชำนาญในเส้นทางเหล่านี้ที่เต็มไปด้วยเนินเขาและทางลาดชันอีกด้วย
เรียกได้ว่าการแข่งขันนี้ได้สร้างความนิยม และวางรากฐานทำให้วงการวิ่งของประเทศญี่ปุ่นเจริญมาถึงระดับแนวหน้าของโลกในปัจจุบัน
ชิโซ คานาคุริ เสียชีวิตในปีค.ศ.1983 ด้วยวัย 92 ปี
ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ไม่ได้เป็นคนที่ล้มเหลว และเป็นที่รู้จักในประเทศบ้านเกิดของเขาในฐานะ
“บิดาแห่งการวิ่งมาราธอนของญี่ปุ่น”
——————————
บทความโดย : I’m from Andromeda
แหล่งข้อมูล :
https://www.guinnessworldrecords.com/…/longest-marathon…