3 Min

ของขวัญประจำเดือน Pride Month! ศาลสูงอเมริกันฟันธง ไล่ลูกจ้างออกเพราะ ‘แปลงเพศ’ คือเรื่องผิดกฎหมาย

3 Min
123 Views
09 Aug 2020

เมื่อ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดอเมริกามีมติ 6 ต่อ 3 ตีความกฎหมาย Civil Right Act of 1964 ในส่วนเนื้อความที่พูดถึง ‘การเลือกปฏิบัติ’ บนฐานของ ‘เพศ’

ว่า ‘เพศ’ คำนี้ไม่ได้หมายถึง ‘เพศชาย’ กับ ‘เพศหญิง’ แต่รวมถึง ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ ที่หลากหลาย

ส่วนสาเหตุที่ศาลต้องมาตีความคำว่า ‘เพศ’ ก็เพราะมีคดีจำนวนหนึ่งส่งมายังศาลสูงสุด ซึ่งทุกคดีล้วนเป็นคดีเกี่ยวกับลูกจ้างโดนไล่ออกจากงาน หลังเปิดเผยว่าตัวเองเป็น ‘เพศทางเลือก’ แล้วนายจ้างไม่พอใจ หรือบางคน ‘แปลงเพศ’ แล้วกลับมาทำงาน ก็โดนไล่ออก

การตีความกฎหมายเข้าข้าง LGBT ของศาลสูงครั้งนี้ นับเป็นเรื่องใหญ่มากในอเมริกา

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ในอเมริกา กฎหมายมี 2 ระดับ คือ กฎหมายของแต่ละรัฐ และกฎหมายของรัฐบาลกลาง

รัฐบาลกลางจะมีสิทธิ์ออกกฎหมายได้ภายใต้อำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แต่ละรัฐของอเมริกาจึงมีอำนาจออกกฎหมายของตัวเองสูงมาก ส่งผลให้กฎหมายแต่ละรัฐต่างกันราวกับกฎหมาย ‘คนละประเทศ’

ทีนี้ กรณีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติกับ LGBT ถ้านับจำนวนรัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ จะมีรัฐที่ออกกฎหมาย ‘ปฏิเสธ’ การเลือกปฏิบัติกับ LGBT ประมาณ 20 รัฐ ขณะที่รัฐที่เหลือเกือบ 30 รัฐ ‘ยินดี’ การเลือกปฏิบัติกับ LGBT โดยถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘ถูกกฎหมาย’ ในทางเทคนิคมาตลอด จนกระทั่งศาลสูงสุดมีคำตัดสินในวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา

คำตัดสินที่ว่า จะมีผลอย่างไร?

กฎหมายของรัฐบาลกลาง คือกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐต่างๆ จะออกกฎหมายขัดกับรัฐบาลกลางไม่ได้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางไม่ได้มีหน้าที่ออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบกับชีวิตคนอเมริกัน เพราะหน้าที่ของรัฐบาลกลางจะเป็นพวกนโยบายระหว่างประเทศ (รวมถึงเรื่องการทหาร) มากกว่า

ส่วนการดูแลชีวิตของพลเมืองอเมริกัน จะเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ละรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองของตนเอง

เรียกว่า นานๆ ทีรัฐบาลกลางจะออกกฎหมายที่กระทบชีวิตคนทั่วไป

เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อ 50 กว่าปีก่อน หลังจากเหล่าคนดำต่อสู้เพื่อสิทธิในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในยุค 1960’s รัฐบาลกลางอเมริกาได้ออกกฎหมาย Civil Right Act of 1964 เนื้อหาหลักคือการประกาศว่าการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ใดๆ บนฐานของเชื้อชาติ สีผิว ชาติกำเนิด ศาสนา และเพศ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ผลคือบรรดากฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับคนดำในรัฐทางใต้ (ที่เคยมีทาส) ก็ต้องถูกยกเลิกทั้งยวง

แต่อย่างที่ว่ามาข้างต้น ตัวบทของกฎหมายนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติบนฐานของ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ หรือ ‘รสนิยมทางเพศ’ เพราะตอนที่กฎหมายเกิดขึ้น คำว่า ‘เพศ’ ในตัวบท หมายถึงห้ามเลือกปฏิบัติกับผู้หญิง แต่ไม่ได้หมายถึงห้ามเลือกปฏิบัติกับ ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’

ทว่า 50 ปีผ่านไป อัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศจำนวนมากก็เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ถูก ‘เลือกปฏิบัติ’

จนศาลสูงสุดมีมติตีความกฎหมายเข้าข้างฝั่ง LGBT ไปแบบ “งงๆ ”

ที่ว่าผลตัดสินออกมา “งงๆ ” ก็เพราะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอเมริกาชุดปัจจุบัน มีจำนวน 5 จาก 9 คน เป็นผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษนิยม

ใครที่เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดอเมริกา ก็จะได้เป็นตลอดชีวิต เว้นแต่ว่าผู้พิพากษาตายหรือลาออก ประธานาธิบดีถึงจะมีสิทธิ์แต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่

และโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คือผู้โชคดีคนนั้น เขาได้แต่งตั้งผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ว่ากันว่า “อนุรักษนิยม” ยิ่งกว่าคนเก่าที่เพิ่งลาออก

ฝ่าย “เสรีนิยม” ทั้งอเมริกาต่างขนพองสยองเกล้า เพราะการแต่งตั้งของทรัมป์จะทำลายสมดุลของศาลสูงสุดเอียงไปฝั่ง “อนุรักษนิยม” มากกว่าเดิม และคดีต่างๆ ที่ไปถึงศาลสูงสุด คำตัดสินก็จะออกมาในแนวอนุรักษนิยม

แต่…คดีเลือกปฏิบัติกับ LGBT กลับเป็นในทางตรงกันข้าม

เพราะผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษนิยม 2 คนมองคำว่า ‘เพศ’ ในกฎหมายต้องรวมถึง ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ ด้วย เช่นเดียวกับผู้พิพากษาฝั่งเสรีนิยมอีก 4 คน

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย 3 คน ก็ไม่ได้บอกว่า ‘เพศ’ รวมหรือไม่รวมถึง ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ แต่มองว่าการจะกำหนดนิยามระดับนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของสภาและรัฐบาลกลาง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะมากำหนด

เพราะนั่นเท่ากับศาลใช้อำนาจในการ ‘ออกกฎหมาย’ ผ่านการตีความกฎหมาย ซึ่งเป็นการละเมิดอำนาจของสภา

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ดี คำตัดสินก็ออกมาแล้ว และชีวิตของ LGBT ทั่วอเมริกาก็ดูจะมีความหวังขึ้น

และก็น่าจะถือว่าเป็นของขวัญประจำ Pride Month แห่งปี 2020 อันดีเดือดที่ไม่เลว

อ้างอิง: