ขยะพลาสติกในไทย เกิดจากการที่คนไทยทิ้งเอง หรือจริง ๆ เกิดจากการนำเข้าขยะพลาสติก?

3 Min
153 Views
11 Oct 2020

ต้นปี 2020 นี้ กระแสหนึ่งที่คึกคักมาก ๆ ในเมืองไทย คือกระแสเรื่องการแบนถุงพลาสติก หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือการที่ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ พร้อมใจกันเลิกแจกถุงพลาสติก

บางคนก็อาจจะดีใจที่นโยบายนี้จะทำให้ “ขยะพลาสติก” ในไทยลดลง แต่อีกด้าน เราก็อาจได้ข่าวเช่นกันว่าเมืองไทยนั้นนำเข้า “ขยะพลาสติก” เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน

นี่ทำให้เรางง ๆ ว่า เอ๊ะ มันยังไงกัน? ห้ามคนไทยใช้พลาสติก แต่ดันยังนำเข้าขยะ มันไม่ขัดแย้งกันเหรอ

มันมีเหตุผลของมันครับ ต้องอธิบาย อย่างแรกสุดเรามาเริ่มจากประเด็นนี้เชิงปริมาณก่อน

ถ้าเราไปค้นในอินเทอร์เน็ต เราจะพบได้ไม่ยากเลยว่า ในไทยเนี่ย นำเข้าขยะพลาสติกปีละราว ๆ 480,000 ตัน (ตัวเลขล่าสุดของปี 2018-2019)

แต่ถ้าเราไปค้นปริมาณ “ขยะพลาสติก” ในไทย เราก็กลับจะไม่พบ แต่เราจะพบปริมาณ “ขยะมูลฝอย” แบบรวม ซึ่งคนไทยสร้างขึ้นปีละ 27 ล้านตัน (ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ)

ทำไมไม่มีตัวเลข “ขยะพลาสติก” ของไทย?

คำตอบคือหัวใจของคำถามที่ว่าทำไมไทยต้องนำเข้า “ขยะพลาสติก” เลยครับ คำตอบคือ เพราะในไทยไม่มีการแยกขยะที่เป็นระบบ ดังนั้นเราเลยรู้แค่ปริมาณขยะรวม ๆ ไม่สามารถแยกประเภทได้

แล้วทำไมเราต้องนำเข้า “ขยะพลาสติก” ล่ะ? เรายอมเป็น “ถังขยะ” ให้ชาวโลกงี้เหรอ? นโยบายแบบนี้ออกมาได้ยังไง?

คำตอบก็คือ เอาจริง ๆ “ในทางหลักการ” การ “นำเข้าขยะพลาสติก” ไม่ใช่การนำมาทิ้งในบ้านเรานะครับ แต่หลัก ๆ คือการนำเข้ามาเป็น “วัตถุดิบ” ให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่ง “พลาสติกราคาถูก” ในบ้านเรา มันถูกแปรรูปจากขยะพลาสติกนำเข้าพวกนี้ทั้งนั้น เอาง่าย ๆ เลย สินค้าพลาสติกในร้าน 20 บาท หรือกล่องพลาสติก กะละมังพลาสติกที่วางขายแบกะดินในราคาถูก ๆ ของพวกนี้เกิดจากพลาสติกรีไซเคิลทั้งนั้น และเราก็ “นำเข้าขยะพลาสติก” จากต่างประเทศมาเพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้

“หลักการ” ของการนำเข้า “ขยะพลาสติก” ก็คือ ในต่างประเทศที่มีการแยกขยะชัดเจน เขาสามารถจะแยกพลาสติกที่สะอาดแล้วเอามารีไซเคิลได้ทันที และเรานำเข้าของพวกนี้มาเพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิล

อย่างไรก็ดี “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นก็คือ ก็มีเอกชนหลายรายใช้ “ช่องว่าง” ตรงนี้นำเข้า “ขยะพลาสติก” แบบขยะจริง ๆ ที่ต่างประเทศยินดีจ่ายเงินเพื่อจะส่งมาทิ้งเข้ามาในบ้านเรา และก็เป็นการเพิ่ม “ขยะพลาสติก” ในบ้านเราเข้าไปอีก

อันนี้ต้องเข้าใจตรงกันก่อน การนำเข้า “ขยะพลาสติก” ในทางหลักการมันสมเหตุสมผล เพราะมันคือการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก แต่ในทางปฏิบัติ มันก็มีคนใช้โอกาสนี้ในการลักไก่รับเงินต่างชาติเอาขยะมาทิ้งในบ้านเราเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เจตนาของนโยบาย “นำเข้าขยะพลาสติก” แต่แรก

ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่า เอาจริง ๆ การนำเข้า “ขยะพลาสติก” มันมีโควต้าการนำเข้าที่ต่อแบบปีต่อปี ซึ่งในเดือนกันยายน 2020 นี้ โควต้ากำลังจะหมดลง และยังไม่มีการเพิ่มโควต้าใด ๆ นั่นหมายความว่าไทยก็จะหยุดนำเข้าขยะพลาสติกตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ) ดังนั้น จริง ๆ นี่ก็สอดคล้องกับนโยบาย “ลดขยะพลาสติก” ในปี 2020 นี้อยู่

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งนี่ก็สร้างความปวดหัวมาก ๆ ให้กับอุตสาหกรรมรีไซเคิลและแปรรูปขยะพลาสติก เพราะเหตุผลที่เราต้อง “นำเข้า” ขยะพลาสติกมาเพื่อแปรรูปแต่แรก ก็เพราะว่าเมืองไทยไม่มีระบบการแยกขยะที่เป็นระบบ และการทำการคัดแยกขยะพลาสติกจากขยะในไทย นั้นก็เป็นการ “เพิ่มต้นทุน” อย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมนี้

พูดในทางปฏิบัติก็คือ การซื้อขยะพลาสติกที่แยกมาแล้วอย่างสะอาดจากต่างประเทศ (ชาติที่ส่ง “ขยะพลาสติก” มาบ้านเราเยอะสุดคือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่แยกขยะกันจริงจังมาก ๆ) มาเพื่อเป็นวัตถุดิบทำสินค้าพลาสติกรีไซเคิลราคาถูก มันถูกกว่าการไปซื้อพลาสติกจากธุรกิจแยกขยะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในไทยเยอะ เพราะบริษัทเหล่านี้ก็ต้องมี “ต้นทุน” จำนวนมหาศาลในการ “แยกขยะ” ของคนไทย เพราะเราคนไทยเราทิ้งขยะแบบไม่แยกเลย

ทั้งหมดนี้ ก็อาจเป็นความปวดหัวของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกไป แต่ที่เรามั่นใจได้เลยก็คือ หลังจากปี 2020 นี้ “ขยะพลาสติก” ในไทย ยังไงก็น้อยลงแน่ เพราะเราทั้ง “แบนถุงพลาสติก” และก็หยุดการนำเข้าขยะพลาสติกไปพร้อม ๆ กัน

อ้างอิง: