ทำไม ‘เด็กรุ่นใหม่’ ไม่นับถือศาสนา

3 Min
7521 Views
01 Sep 2020

Highlight

  • เด็กรุ่นใหม่ทั่วโลกมีอัตราการนับถือศาสนาน้อยลงหากเทียบกับผู้ใหญ่ นักวิชาการมองว่า ศาสนาในปัจจุบันมาพร้อมสัญญะเชิงอำนาจ การกดขี่ และการริดรอนเสรีภาพ ซึ่งขัดกับแนวความเชื่อของคนรุ่นใหม่

 

หากพวกเราหยิบบัตรประชาชนคนไทยมาตรวจสอบ เราจะพบเลยว่า ‘คนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่านับถือศาสนาพุทธ’

หากเราพูดถึงอดีต เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ผิดแปลกอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบัน ในวันที่โลกเคลื่อนตัวไปด้วยความทันสมัย ‘เด็กรุ่นใหม่’ หลายคนเลือกที่จะนับถือศาสนาพุทธแค่ในบัตร

และถ้าหากคุณเดินไปไถ่ถามหนุ่มสาวด้วยประโยคที่ว่า “คุณนับถือศาสนาอะไร?”

คำตอบอย่าง “ผม/หนู ไม่มีศาสนา” น่าจะเป็นที่คำตอบที่พบได้ง่ายมากขึ้น

หากมองตามสถิติทั่วโลก จากรายงานของ Pew Research Center เราจะพบว่า ผู้คนจำนวนมากถึง 1,100 ล้านคนทั่วโลก ไม่นับถือศาสนา

สิ่งที่หลายคนน่าจะแปลกใจก็คือ ‘ชาวจีน’ มีจำนวนประชากรที่ไม่นับถือศาสนามากถึง 700 ล้านคน (หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพราะการปกครองแบบคอมมิวนิสต์)

ถึงแม้ในประเทศไทย ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือทำการวิจัยที่ชัดเจน แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่า เรื่องของการไม่นับถือศาสนาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากพุทธ คริสต์ หรืออิสลามที่ระบุอยู่ในหน้าบัตรประชาชน

ปัจจุบันมีการระบุศาสนาที่แปลกใหม่ เช่น ลัทธิเบคอน หรือลัทธิเจได เป็น 2 ลัทธิใหม่ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก (หลายคนมองว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งในการแสดงออกว่าไม่นับถือศาสนา แต่เป็นในเชิงล้อเลียนมากกว่า อย่างไรก็ตาม 2 ลัทธิดังกล่าว ก็มีแนวทางปฏิบัติ อย่างการศรัทธาในเบคอน และการศรัทธาในพลัง ‘force’ แบบเจได เป็นแก่นอยู่เช่นกัน)

จากการวิเคราะห์ของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องรัฐและศาสนาก็พอทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ศาสนาในประเทศไทยไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่เท่าไหร่นัก อาทิ

การสอนด้วยความกลัว
การใช้ศาสนาเป็นสัญญะในเชิงอำนาจ
การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ
บางเรื่องของศาสนา (นรก-สวรรค์) พิสูจน์ไม่ได้
ผิดหวังกับพฤติกรรมของตัวแทน (พระสงฆ์)

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ศาสนา และการนำเสนอในไทย ดูเหมือนจะผิดเพี้ยนไปจากแก่นเดิมอยู่มาก เพราะมักมีเรื่องของเครื่องราง โชคลาภ และผีสางปะปนอยู่ด้วย

การ ‘ไม่นับถือศาสนา’ ของเด็กรุ่นใหม่ก็มีหลายระดับ แล้วแต่ความเหมาะสมที่ตนเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ไม่เข้าวัดเลย ไม่ไหว้พระเลย ไม่ยุ่งกับกิจกรรมทางศาสนาเลย ไปจนถึงก็เข้าวัดได้ ก็เข้าร่วมพิธีกรรมได้ แต่ก็ทำเป็นพิธี พอให้คนรอบข้างได้สบายใจ พอให้เข้าสังคมได้เท่านั้น แต่ในใจไม่รู้สึกอะไรด้วยเล

แต่ในบางทีพวกเราอาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ มองคนรุ่นใหม่ไว้ก็ได้

“ศาสนาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ละเอียดอ่อนมาก เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่มมันเป็นวัยที่เรากำลังฝึกปรือเรื่องความคิด เรากำลังกระโจนออกไปสู่โลกกว้างแล้วพาหนะในการที่จะนำพาเราออกไปสู่โลกกว้างภายนอกคือความคิด เราเลยตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อไปถึงจุดจุดหนึ่ง เมื่อชีวิตเราเติบโตพอสมควรแล้ว มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งโลกที่น่าตื่นใจไม่ใช่ข้างนอก แต่เป็นมิติที่อยู่ภายใน ทีนี้กระบวนการเข้าไปสู่พื้นที่ภายในของเรามันเป็นมิติทางศาสนา”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์ระบุต่อว่า ถึงแม้จะคุยกับเพื่อนต่างศาสนาเรื่องจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน ถึงแม้จะมีศัพท์ที่ต่างกัน แต่ความรู้สึกมันเหมือนกัน

“แต่ผมอาจจะไม่ได้ใช้คำว่าผมไว้เนื้อเชื่อใจพระผู้เป็นเจ้า ผมใช้คำว่า ผมไว้เนื้อเชื่อใจธรรมชาติ และสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผมคือสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรให้ปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนชาวคริสต์เขาจะบอกว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจัดสรรให้ เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ถ้าเราไม่ติดใจเรื่องคำ มันคือความหมายเดียวกัน”

สุดท้ายนี้ไม่ว่าใครจะนับถือหรือไม่นับถืออะไร ตัวผู้เขียนเชื่อว่า ทุกความเคารพและความรักควรมาจากความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา หรือเรื่องใดก็บังคับกันไม่ได้ทั้งสิ้น

แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่เริ่มนับถือศาสนาน้อยลง?

อ้างอิง:

  • โลกวันนี้. สุรพศ ทวีศักดิ์. การปรับตัวศาสนาในโลกสมัยใหม่. https://bit.ly/2P7qtMe
  • Thai PBS. ผลสำรวจพบคนไม่นับถือศาสนากว่า 1,100 ล้านคนทั่วโลก. https://bit.ly/3100FXB
  • The Momentum. คนรุ่นใหม่ไม่นับถือศาสนา. https://bit.ly/306oZbh
  • ใบพัด นบน้อม. ประมวล เพ็งจันทร์ ปรารถนาเป็นคนรักที่ดี. หนังสือ IN CONVERSATION